เกี่ยวกับมูลนิธิ

Download เอกสารเป็น PDF file: เกี่ยวกับมูลนิธิ

สมาคมหยาดฝน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ.2528 ที่จังหวัดตรัง ได้ดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนร่วมมือกันทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรชายฝั่งมานานกว่าสองทศวรรษ  สมาคมหยาดฝนจดทะเบียนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม  เมื่อ พ.ศ.2536  เป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม  เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการปกป้องป่าชายเลนโลก (Mangrove Action Project) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังเป็นเครือข่ายของ International River Network (IRN) เป็นองค์กรสมาชิกของ International Collective in Support of Fish workers (ICSF) และเป็นเครือข่ายของ Asian Solidarity Against Industrial aquaculture (ASIA)

สมาคมหยาดฝนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายทรัพยากรชายฝั่ง พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการให้สัมปทานพื้นที่ป่าชายเลนในการตัดไม้เผาถ่าน และการบุกรุกเพื่อทำบ่อกุ้ง การลดลงของสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ คือ หญ้าทะเลและปะการัง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการทำลายป่าชายเลน การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมาย เช่น การจับปลาโดยอวนลาก อวนรุนในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง  การใช้ยาเบื่อและระเบิดปลา รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเพื่อใช้พื้นที่สำหรับการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยการก่อสร้างโครงการของหน่วยงานต่างๆ การทำเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก กล่าวคือ ความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนย่อมนำไปสู่การขาดสมดุลของระบบนิเวศที่มีความสำคัญและซับซ้อนยิ่ง ผลกระทบที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ ชาวประมงขนาดเล็กที่ทำประมงตามบริเวณชายฝั่ง ซึ่งตามปกติเป็นบุคคลที่ด้อยโอกาสในสังคมอยู่แล้ว ยิ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมากยิ่งขึ้น อาชีพหลัก คือ การจับสัตว์น้ำ ถูกกระทบจากจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างมาก ชาวประมงขนาดเล็กเหล่านี้จำเป็นต้องอพยพเพื่อไปทำงานเป็นลูกจ้างตามโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ต่างท้องถิ่นหรือเป็นลูกเรือประมงพาณิชย์เพื่อออกไปหาปลาในทะเลลึก

  วัตถุประสงค์

สมาคมหยาดฝนเล็งเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการแก้ไข การเสริมกระบวนการเรียนรู้กับชุมชน  การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ สมาคมหยาดฝนจึงดำเนินงานโดยยึดวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน

1.     เพื่อให้ชุมชนได้มีความรู้และความเข้าใจ รวมทั้งเจตคติที่ดีในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมทั้งการมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิของชุมชนในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตามที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การเสริมกระบวนการเรียนรู้กับชุมชนในเรื่องที่เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน  หญ้าทะเล ปะการัง และในบริเวณชุ่มน้ำจืดป่าสาคู   เป็นต้น เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง จะเป็นหลักประกันว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้จะได้รับการดูแลและฟื้นฟูจากคนในชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากร นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องรายได้และความยากจนของคนในชุมชน ผลที่ตามมาคือคนในชุมชนเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเกิดการรวบรวมองค์ความรู้ชุมชนของตนเอง

2.     เพื่อสนับสนุนให้มีการก่อตั้งองค์กรชุมชนท้องถิ่น ในการทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเป็นธรรมและด้วยสันติวิธี

การส่งเสริมให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้ชุมชนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานกลุ่ม การรวมตัวกันเพื่อให้เกิดพลังชุมชนท้องถิ่น การประชุมเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหา และการอภิปรายเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นและสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยพึ่งความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกให้น้อยที่สุด

3.     เพื่อให้เกิดเครือข่ายและความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ

การขยายแนวร่วมและเครือข่ายจะทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น และเป็นการผนึกกำลังเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรองและจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างเครือข่ายและการทำงานในรูปพหุภาคี จะนำไปสู่การประสานประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งองค์กรภายในท้องถิ่นจนถึงองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ภายนอก ทำให้องค์กรชุมชนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และเกิดความตื่นตัวในเรื่องพลังและอำนาจที่องค์กรชุมชนท้องถิ่นมีอยู่

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า สมาคมหยาดฝนนอกจากจะมีจุดหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพของชุมชน  และเสริมสร้างสำนึกร่วมโดยกระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และแบ่งปันกันใช้อย่างเป็นธรรม

กระบวนการในการดำเนินงาน

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการดังกล่าว สมาคมหยาดฝนได้ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สมาคมหยาดฝนตระหนักดีว่า การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนจะไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้อย่างแน่นอนหากคนในชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบโดยตรงจากทรัพยากรธรรมชาติขาดเจตนคติที่ดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น การณรงค์ประชาสัมพันธ์ หรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ก่อให้เกิดผลที่น่าพอใจในทางปฏิบัติ สมาคมหยาดฝนจึงทำงานในรูแบบของการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับคนในชุมชนผ่านทางโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง เช่น การอนุรักษ์ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง เต่าทะเล และพะยูน และการยับยั้งเครื่องมือประมงทำลายล้าง  เป็นต้น ความแตกต่างของกิจกรรมขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละชุมชน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนกับทรัพยากรหลักที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นๆ เช่น หากชุมชนดังกล่าวมีแหล่งหญ้าทะเลก็จะนำเรื่องการอนุรักษ์หญ้าทะเลมาเป็นกิจกรรมหลักของชุมชนนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรจะมีความหลากหลายแตกต่างกัน  แต่ทุกกิจกรรมมีเป้าหมายในการดำเนินงานเช่นเดียวกันทั้งสิ้น

กิจกรรมต่างๆ ที่ได้มีการจัดทำขึ้น ชุมชนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเองโดยมีสมาคมหยาดฝนทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลที่ต้องใช้ ผลจากลงมือปฏิบัตินอกจากชุมชนจะได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องแล้ว ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนดูแลและจัดการทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตนเองอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลาน นอกจากนี้ชุมชนยังได้เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกันในรูปของกระบวนการกลุ่ม เพื่อดูแลจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น ประสบการณ์ที่ได้รับจากกระบวนการทำงานและการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะได้ถูกนำไปปรับใช้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนไปพร้อมกัน

การทำงานของสมาคมหยาดฝนไม่เน้นผลสัมฤทธิ์อันเป็นรูปธรรมจากโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนกระทำเป็นเป้าหมายหลัก  แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ในการทำงาน การหาแนวทางในการแก้ไขและจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนได้ โดยการใช้ปัจจัยที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกชุมชนอย่างเหมาะสม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

จากโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคมหยาดฝนได้วางแผนไว้และได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา  สมาคมหยาดฝนคาดว่าผลที่น่าจะเกิดขึ้น ได้แก่

  1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้คาดว่าผลต่อไปนี้จะเกิดขึ้น

1.1     ชุมชนได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ อันนำไปสู่ความร่วมมือกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนของตนเอง

1.2     ชุมชนร่วมมือกันดูแลและจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมทั้งร่วมมือดูแลและป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากบุคคลภายนอก

1.3     ชุมชนเรียนรู้สิทธิในการใช้สอยและจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายในท้องถิ่นของตนเองตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้

1.4     ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและทรัพยากรชายฝั่งกลับคืนมา กล่าวคือ ป่าชายเลน  หญ้าทะเล ปะการัง รวมทั้งสัตว์น้ำ คือ กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นในอดีต

1.5     มลพิษในทะเลลดลง ได้แก่ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และของเสียอันตรายลดลงในน้ำทะเล โดยผู้สร้างมลพิษและชุมชนได้ตระหนึกถึงปัญหา ว่าควรได้จัดการของเสียต่างๆ อย่างเหมาะสมก่อนที่จะปล่อยสงสู่ทะเล

2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีผลที่คาดหวังไว้ดังนี้

2.1     ชุมชนเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อการอนรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นคุณค่าของวิถีชีวิต ความคิด ความรู้ดั้งเดิมของชุมชน สนับสนุนให้มีการผสมผสานความรู้ดั้งเดิมของชุมชนเข้ากับความรู้วิทยาการร่วมสมัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานของชุมชน

2.2     ชุมชนเรียนรู้กระบวนการทำงานกลุ่ม การประชุม อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เรียนรู้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

2.3     มีการรวมตัวกันของคนในชุมชนก่อตั้งองค์กรท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของชุมชนและส่วนรวมอย่างเป็นธรรม

2.4     มีการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน ให้สามารถทำงานประสานประโยชน์ทั้งภายในชุมชนของตนเองและร่วมมือกับองค์กรภายนอกได้

3. การกระจายรายได้ มีสิ่งที่คาดหวังดังนี้

3.1     ชุมชนประมงพื้นบ้านมีอาชีพมั่นคง  จึงจับสัตว์น้ำได้ตลอดปี  โดยใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง

3.2     ชาวประมงไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจับสัตว์น้ำไกลๆ ซึ่งจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายไปในตัว

3.3     มีโอกาสสร้างอาชีพเสริมในท้องถิ่นที่เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มตามศักยภาพ เช่น แปรรูปสัตว์น้ำ  การถนอมอาหาร  การเลี้ยงปลาในกระชังแบบพึ่งตนเอง  การปลูกผัก และการเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคในครอบครัว ซึ่งจะเป็นการเสริมรายได้และประหยัดรายจ่ายในครอบครัว

3.4     ผู้อพยพกลับถิ่นฐานของผู้ที่ผิดหวังจากการใช้ชีวิตในเมืองและในโรงงานอุตสาหกรรมมีมากขึ้น บุคคลที่กลับสู่ถิ่นฐานเหล่านี้จะสามารถประกอบอาชีพประมงเลี้ยงครอบครัวได้

4. เครือข่ายความร่วมมือและการประสานงาน มีสิ่งที่คาดหวังดังนี้

4.1     เกิดเครือข่ายขององค์กรชุมชนระดับท้องถิ่น ระดับภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเกิดสมดุล

4.2     มีการประสานความร่วมมืออย่างเท่าเทียมระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชน  องค์กรพัฒนาเอกชน  และองค์กรภายนอกอื่นๆ

ใส่ความเห็น